วันที่ 22 เม.ย. 68 ที่ผ่านมาที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ จำนวน 6 คน ประกอบด้วย รศ.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ,ศ.(วิจัย) ดร. ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ,ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ ,นางสาวพิมพ์นารา จิรานิธิศ ,ดร.สุเมธ ตั้งประเสริฐ และศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เพื่อแทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน กมอ. 6 รายเดิม ซึ่งครบวาระการดำรงตำแหน่ง
อย่างไรก็ดี ผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 6 คนถูกบางฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า เป็นคนนอก ไม่มีประสบการณ์ด้านการมาตรฐาน จากเดิม กมอ.คัดเลือกจากอดีตผู้บริหารสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) หรือผู้เกี่ยวข้องเป็นหลัก
แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า เกณฑ์การเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ นายเอกนัฏ มอบนโยบายว่า นอกเหนือความรู้ความสามารถเป็นที่ยอมรับ และไม่มีประวัติด่างพร้อยแล้ว ยังต้องมีความเข้าใจโจทย์ และภารกิจสำคัญในการปฏิรูประบบอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจยุคใหม่
รวมถึงเข้าใจภารกิจการปราบอุตสาหกรรมศูนย์เหรียญ โดยเฉพาะประเด็นมาตรฐานเหล็กที่ผลิตจากเตาอินดักชั่น (IF) ที่นายเอกนัฏ มีข้อสั่งการให้ กมอ.พิจารณาทบทวนการรับรองมาตรฐานเหล็กเส้น IF เนื่องจากกระบวนการผลิตเหล็กโดยเตาหลอมแบบ IF ไม่สามารถควบคุมคุณภาพของเหล็กได้
จากการตรวจสอบของ ”ฐานเศรษฐกิจ“ พบว่าก่อนหน้านี้ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สั่งการให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม บรรจุวาระยกเลิกมาตรฐานเหล็กที่ผลิตจากเตา IF ในที่ประชุมคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
อย่างไรก็ตาม กมอ.ยังไม่กำหนดวันประชุมยกเลิกเหล็กIF คาดจะมีความชัดเจนในสัปดาห์นี้
สำหรับ 6 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน กมอ. ชุดใหม่ประกอบด้วย